ปฎิกิริยาเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน

 #สำหรับบุคคลทั่วไปและบุคลากรการแพทย์ที่สนใจ

“ปฎิกิริยาเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน ส่วนมากหายได้เอง หากใครมีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ยังสามารถรับวัคซีนเข็มต่อไปได้ และไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ”

ตามคำแนะนำของ American Academy of Dermatology คือ หากผื่นที่เกิดหลังฉีดวัคซีนเร็วภายใน 4 ชั่วโมง ให้รีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการแพ้รุนแรงได้ แต่หากผื่นเกิดขึ้นหลังจาก 4 ชม.ไปแล้ว ส่วนมากมักเป็นเพียงอาการที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง

ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการboost วัคซีนโควิดเข็มสอง เข็มสาม ให้กับประชากรทั่วโลก ทำให้มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ต่อวัคซีนมากขึ้น บางคนมีอาการปวดบวมแดงร้อน อักเสบบริเวณที่ฉีดวัคซีน ยกแขนไม่ขึ้น แล้วอาจจะตกใจ คิดว่าแพ้รุนแรง บางคนไปซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเพราะเข้าใจว่าติดเชื้อ บางคนไม่กล้าไปฉีดเข็มต่อไปตามนัดหมาย เพราะคิดว่าอาจจะทำให้เป็นอันตรายหนักกว่าเดิม

ความจริงแล้วปฏิกิริยาที่เกิดเฉพาะที่หลังฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แถมบางทีถ้ารู้ว่ามันคือปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน อาจจะเป็นข่าวดีด้วยซ้ำ เพราะนั่นหมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้พยายามทำงานของมัน เพื่อจะเรียนรู้ที่จะจัดการกับเชื้อ(ซึ่งก็คือวัคซีนที่เราฉีดเข้าไปนั่นเอง)

ถ้าพูดถึงปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีน ที่เกิดขึ้นหลังการฉีดเกิน4ชม.ไปแล้ว (กลุ่มปฏิกิริยาแบบไม่เฉียบพลัน) หลักๆแบ่งตามกลไกการเกิดได้ 2 แบบ

1.Arthus reaction (type III hypersensitivity): การที่ร่างกายเรามีภูมิต่อสิ่งนั้นอยู่แล้ว เมื่อเรากระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข้าไปอีก ทำให้เกิดการจับกันระหว่างภูมิ(ที่เรามีอยู่แล้ว) กับวัคซีน แล้วเกิดการตกตะกอนของสารประกอบที่เกิดจากการจับกันของภูมิและวัคซีน ต่อมาเกิดการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้เข้ามาบริเวณนั้น แล้วปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดเฉพาะที่ แถวๆตำแหน่งที่ฉีด ตัวอย่างภาวะนี้ เช่นที่พบหลังการฉีดวัคซีนบาดทะยักเข็มกระตุ้น ส่วนระยะเวลาที่จะเกิด มักเกิดเร็วประมาณ 6-12 ชม.หลังการฉีด


2.Delayed type hypersensitivity (type IV hypersensitivity): วัคซีนเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ โดยผ่านระบบภูมิคนละส่วนกับปฏิกิริยา Arthus reaction โดยเซลล์ด่านหน้าที่พบเจอวัคซีนที่เราฉีดเข้าไป นำเอาวัคซีนไปย่อยได้เป็นโปรตีนชิ้นเล็กๆ จากนั้นเอาโปรตีนไปนำเสนอให้กับเซลล์ด่านหลัง (T cell) เมื่อT cell ทำความรู้จักกับวัคซีนก็เกิดการต่อสู้กัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบตามมา ระยะเวลาที่จะเกิดมักเกิดประมาณ 1 สัปดาห์หลังการฉีด


ในข้อมูลก่อนหน้านี้ มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ ที่เรียกว่า COVID arm (แขนของคนที่ได้รับวัคซีนโควิด) ตีพิมพ์ลงในวารสาร NEJM (12ราย) และ JACI(12ราย) ที่จริงหลังจากนั้นมีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่หลังฉีดวัคซีนโควิดตามมาอีกมากมาย โดยเกิดหลังการฉีดวัคซีนประมาณ 1 สัปดาห์ (4-11วัน) มีคนไข้รายหนึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและพบว่ากลไกน่าจะเกิดจาก Delayed type hypersensitivity และพบว่าคนไข้ทุกรายจากทั้ง รายงาน สามารถฉีดวัคซีนชนิดเดิมเข็มที่สองได้อย่างปลอดภัย โดยส่วนมากเกิดปฏิกิริยาแค่เข็มแรก แต่เข็มที่สองไม่เกิดซ้ำแล้ว ในบางรายก็ยังคงเกิดอาการปวดบวมแดงซ้ำหลังฉีดเข็มสองอีกแต่เป็นไม่รุนแรงมากไปกว่าเข็มแรก (สรุปคือ ส่วนมากไม่เกิดซ้ำ ส่วนน้อยที่เกิดซ้ำก็รุนแรงลดลง บางส่วนที่เกิดซ้ำความรุนแรงไม่มากขึ้น แต่พอๆเดิมเทียบกับเข็มแรก) ***และทุกรายแม้จะเกิดอาการซ้ำ แต่สุดท้ายอาการดังกล่าวก็หายเป็นปลิดทิ้ง ในระยะเวลาประมาณ 1สัปดาห์ (2-11วัน)



เมื่อเราเข้าใจว่ามันคือกลไกที่เกิดขึ้นแบบนี้ เราก็จะไม่ตระหนกตกใจเกินกว่าเหตุ และทำให้เราไม่เกรงกลัววัคซีน เพราะถ้าหากไม่ได้แพ้รุนแรง วัคซีนนั้นมีประโยชน์มหาศาลในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และช่วยต่อสู้กับโรคระบาดได้

#ไปฉีดวัคซีนโควิดกันน้า

#ขอให้ทุกคนปลอดภัย

Reference

1. https://www.aad.org/public/diseases/coronavirus/covid-arm

2. Blumenthal KG, Freeman EE, Saff RR, Robinson LB, Wolfson AR, Foreman RK, et al. Delayed large local reactions to mRNA-1273 vaccine against SARS-CoV-2. N Engl J Med 2021;384:1273-7.

3. Ramos CL, Kelso JM. "COVID Arm": Very delayed large injection site reactions to mRNA COVID-19 vaccines. J Allergy Clin Immunol Pract. 2021 Jun;9(6):2480-2481. doi: 10.1016/j.jaip.2021.03.055. Epub 2021 Apr 20. PMID: 33864927; PMCID: PMC8056968.


วัคซีนโควิดและโอกาสเกิดการแพ้วัคซีน

ช่วงปลายปี 2563 ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเป็นความหวังอาจจะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 สงบหรือลงลงไปบ้าง โดยมีหลายบริษัทจากหลายๆ ประเทศระดมนักวิทยาศาสตร์มาคิดค้นวัคซีน จนปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 มีประชากรได้ฉีดวัคซีนโควิดจากหลายๆ ประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนไปสักระยะ ช่วงเดือนธันวาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากวัคซีนของ Pfizer โดสแรก โดยรายงาน 4,393 ราย จาก 1,893,360 ราย คิดเป็น 0.2% และมี 175 รายที่มีอาการสงสัยแพ้วัคซีนรวมถึงอาการแพ้รุนแรงจากวัคซีน (Anaphylaxis) 21 เคส โดยคิดเป็น 11.1 ครั้งต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส โดยอาการแพ้รุนแรงมักเกิดขึ้นภายใน 30 นาที หากเปรียบเทียบกับโอกาสการแพ้วัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่ ไอพีดี พบว่าวัคซีนดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสเกิดภาวะแพ้รุนแรงเลย (มีรายงาน 0 ราย ต่อ 1 ล้านโดส) และถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยการแพ้วัคซีนตัวอื่นในอดีต ที่มีรายงานคือ ประมาณ 1.31 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก อาการส่วนใหญ่ที่พบหลังฉีดวัคซีนต้องควรแยกก่อนว่าเป็นอาการแพ้จริง โดยผู้ป่วยมักมีอาการผื่นขึ้นหลังฉีดภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง และอาจมีอาการระบบอื่นร่วมด้วย หรือ เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน (มีกลไกไม่ผ่านภูมิคุ้มกัน) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เช่น ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไข้, ผื่นที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดเป็นเวลาหลายชั่วโมง (ซึ่งเป็นกลไกไม่ผ่านภูมิคุ้มกัน) หรือปวดบวมบริเวณที่ฉีด สำหรับข้อมูลของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด พบว่าผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง มีค่ามัธยฐานของอายุ 40 ปี, เป็นเพศหญิง 90%, อาการเกิดขึ้นภายใน 30 นาที 86% และเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้อื่น 81% ============================================ ความน่าสนใจคือ จริงๆ แล้ววัคซีนโควิด รวมถึงวัคซีนชนิดอื่น สามารถเกิดการแพ้ได้จากอะไร โอกาสมากน้อยเพียงใด?
ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า สาเหตุของการแพ้วัคซีน เกิดจากส่วนประกอบที่ผสมในวัคซีนมากกว่าตัววัคซีนเอง ยกตัวอย่างส่วนประกอบในวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ เจลาติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มาจากหมูหรือวัว พบมากที่สุดในวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) มีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือ วัคซีนสุกใส และวัคซีนพิษสุนัขบ้า ส่วนสารประกอบตัวอื่นๆ ที่มีรายงานคือ Ovalbumin ในวัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือสารกันบูดในวัคซีนเช่น Thiomersal ในวัคซีนหลายชนิด ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาการแพ้ของส่วนประกอบแต่ละชนิด อาจเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลัน (IgE mediated reaction) น้อยกว่าแบบไม่เฉียบพลัน (nonIgE mediated reaction) . กลับมาดูที่ส่วนประกอบของวัคซีนโควิดของ Pfizer และของ Moderna พบว่า ส่วนประกอบในวัคซีนที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดการแพ้ คือ PEG หรือ Polyethylene glycol ซึ่ง PEG เป็นส่วนประกอบในการทำละลายของวัคซีนอื่นหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนไอพีดี13 สายพันธุ์, วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอีกมากมาย มีรายงานจากหลายงานวิจัยว่าสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในร่างกายแบบเฉียบพลันได้แต่รายงานส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยและเป็น case report นอกจากนั้น หากพิจารณาสูตรโครงสร้างของ PEG พบว่าคล้ายกับ Polysorbate 80% (เป็นตัวทำละลายในวัคซีนโควิดของ AstraZeneca และ Johnson and Johnson) ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปฏิกิริยาแพ้ PEG จึงควรหลีกเลี่ยงวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ Polysorbate ด้วย ============================================
คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ควรแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม โดยถามประวัติ 4 ข้อคือ . - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากยาฉีด ทั้งยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดเข้ากล้าม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้อื่น เช่น อาหาร พิษจากแมลง หรือลาเทกซ์หรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ภายใน 4 ชั่วโมงหรือแพ้รุนแรงหลังจากการฉีด PEG หรือ polysorbate โดยตรงหรือจากการผสมในวัคซีนหรือไม่? . ทั้ง 4 คำถามสามารถแบ่งผู้ป่วยตามความเสี่ยงได้ 3 กลุ่ม คือ 1. #กลุ่มความเสี่ยงสูง (ผู้ป่วยที่เคยมีการผิดปกติจากการฉีด PEG หรือ polysorbate จากคำถามข้อ 4) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ พิจารณาทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) ต่อ PEG ก่อนฉีดวัคซีน ส่วนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังต่อวัคซีน mRNA ยังไม่แนะนำเพราะวัคซีนมีการระคายเคืองผิวหนังอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้ 2. #กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาฉีด วัคซีน หรือแพ้สารก่อภูมิแพ้อื่นๆ จากคำถามข้อ 1,2,3) ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่ต้องสังเกตอาการ 30 นาที 3. #กลุ่มความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติแพ้ตามคำถามทั้ง 4 ข้อ) ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่ต้องสังเกตอาการ 15 นาที . ในทางปฏิบัติหลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว และได้ติดตามอาการหลังจากฉีดวัคซีน หากผู้ป่วยมีอาการบวมแดงบริเวณฉีดเท่านั้นหรือมีผลข้างเคียงเล็กน้อย การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถฉีดได้โดยสังเกตอาการหลังจากฉีด 15-30 นาที แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยแพ้วัคซีน หรืออาการแพ้รุนแรง ควรส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังกับ PEG ต่อไป
============================================ 💥💥คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแพ้วัคซีนโควิด💥💥 . 💉 ใครคือผู้มีความเสี่ยงที่จะแพ้วัคซีนโควิดแบบรุนแรง? : ผู้ที่มีความเสี่ยงแพ้วัคซีนโควิดแบบรุนแรงคือผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจาก PEG ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีนโควิดทั้ง Pfizer และ Moderna นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรค Mastocytosis และหืดที่รุนแรงจะมีอาการแพ้รุนแรงได้ง่าย ผู้ป่วย 2 กลุ่มหลังอาจต้องพิจารณาการรับไว้เป็นผู้ป่วยในเพื่อสังเกตอาการช่วงฉีดวัคซีน . 💉วัคซีนของ Pfizer พบผู้ที่แพ้รุนแรงมากน้อยแค่ไหน? : พบผู้ป่วยแพ้รุนแรง 2 ราย จากงานวิจัยวัคซีน Pfizer โดย 1 เคสเป็นผู้ฉีดวัคซีนจริง และ 1 เคสเป็นผู้ฉีดยาหลอก มีการทดสอบแล้วว่าการแพ้รุนแรงของทั้งสองรายไม่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของวัคซีน . 💉ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลัน เช่น ผื่นหลังได้รับยาบางชนิดหลายชั่วโมงและไม่ใช้แพ้รุนแรง จำเป็นต้องเลี่ยงการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? : ผู้ป่วยลักษณะนี้ไม่ใช่ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนโควิด . 💉ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่น แล้วมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดมาก เพิ่มโอกาสแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? : ความสัมพันธ์ของอาการเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน ไม่สัมพันธ์กับการแพ้รุนแรง ดังนั้นโอกาสแพ้รุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิดเท่ากับประชากรทั่วไป . 💉หากฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง ควรฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่? : เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงซ้ำ และการเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนเข็มที่ 2 ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ============================================ กล่าวโดยสรุป อาการผิดปกติจากการฉีดวัคซีน มักเป็นอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าอาการแพ้จริง ซึ่งอาการแพ้มักเกิดจากแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนมากกว่า โดยวัคซีนโควิดทั้ง Pfizer และ Moderna มีส่วนประกอบที่เคยมีคนรายงานเกี่ยวกับการแพ้ คือ PEG อย่างไรก็ดี โอกาสแพ้เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพ้วัคซีนรุนแรงคือ ผู้ป่วยที่แพ้ PEG หรือ polysorbate หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงแพ้วัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อมูลและพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม โอกาสแพ้วัคซีนแบบรุนแรงมีน้อยมาก ดังนั้นการตัดสินใจฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าของประสิทธิภาพของวัคซีนเทียบกับผลข้างเคียงหรือข้อเสียของวัคซีนหลังฉีด และผู้ที่ฉีดวัคซีนควรฉีดในสถานพยาบาลที่สามารถสังเกตอาการหลังฉีดและมียา Epinephrine สำหรับรักษาอาการแพ้รุนแรงได้ Immediate Hypersensitivity to Polyethylene Glycols and Polysorbates: More Common Than We Have Recognized Who Is Really at Risk for Anaphylaxis Due to COVID-19 Vaccine? The COVID-19 Pandemic in 2021: Avoiding Overdiagnosis of Anaphylaxis RiskWhile Safely Vaccinating the World mRNA Vaccines to Prevent COVID-19 Disease and Reported Allergic Reactions: Current Evidence and Suggested Approach. common-questions-about-covid-vaccines-and-allergies

ภูมิแพ้ไรฝุ่น ตอนที่ 2: ทำอย่างไร ถ้าสงสัยแพ้ไรฝุ่น

มาแล้วจ้าาา 🥳ใครแพ้ไรฝุ่นมากองรวมกันตรงนี้...
💝การ์ตูนภูมิแพ้ไรฝุ่นตอนที่ 2 จะพาคุณไปรู้จักวิธีการตรวจเบื้องต้น การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงจากไรฝุ่น และ การรักษาเพื่อให้หายขาดจากภูมิแพ้ไรฝุ่น
🌈แล้วเราจะชนะไปด้วยกัน
#ChulaAllergy #รู้ไว้ไม่แพ้

ภูมิแพ้ไรฝุ่น ตอนที่ 1: ทำความรู้จักกับไรฝุ่น

🎤 ที่เธอเห็นแค่ฝุ่น มันเข้าตา ฉันไม่ได้ร้องไห้
...แต่ฉันแพ้ฝุ่นไง‼️...😪🤧😷
ถ้ามีอาการคัดจมูก คันตา น้ำมูกไหล หายใจไม่ออกอาจจะเกิดจากการแพ้ไรฝุ่นได้
👾 ไรฝุ่นคืออะไร เรามีการ์ตูนมาฝากค่ะ
👾 คุณอาจไม่ได้นอนคนเดียวอย่างเดียวดาย แต่มีไรฝุ่นมากมายที่มองไม่เห็น นอนเป็นเพื่อน🎃
...สยองจัง พวกมันอาศัยกินรังแค และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วของเรา


🌦ไรฝุ่นชอบอากาศชื้น เติบโตดีในอุณหภูมิ 10-35 องศาเซลเซียส 
House dust mites love Thailand.


🙀 รู้หรือไม่ว่า น้ำหนักของไรฝุ่นและซากของมันอาจมากถึง 
10%ของน้ำหนักหมอนเก่า ตุ๊กตาเก่าที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป


💩 โปรตีนจากตัวและมูลของไรฝุ่น สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย ในคนที่แพ้ไรฝุ่นได้


หากมีอาการคัดจมูก คันตา จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่ออกบ่อยๆ 
โดยเฉพาะเวลารื้อหนังสือเอกสาร หรือเสื้อผ้าเก่า ไม่ได้เปลี่ยนผ้าปูที่นอนนานๆ 
หรือเด็กที่ไปกระโดดเล่นบนเตียง แล้วมีอาการดังกล่าว คุณอาจแพ้ไรฝุ่นก็ได้...



📌อะไรเอ่ย เจอกันทีไร ก็จะกลับไปที่จุดเดิม ตอบ: FIXED DRUG ERUPTION

[สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลที่สนใจ]​
....................................................
😭
ฮาวทูทิ้ง...ทำไมยังกลับมาที่เก่า
ช่วงนี้มีหนังรักส่งท้ายปี เรื่องฮาวทูทิ้ง ภาพยนตร์สำหรับคนอยากตัดใจ แต่สุดท้ายก็กลับไปที่เก่า​

😇วันนี้เพจของเราจึงขออินเทรนหน่อย จะขอพูดถึงผื่นแพ้ยาที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง เพราะว่าเกิดขึ้นทีไร ก็จะขึ้นที่ผิวหนังบริเวณเดิมๆ
....................................................
📚การแพ้ยาแบบ ‘Fixed drug eruption’
มีลักษณะพิเศษคือ ผื่นจะขึ้นที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยานั้น ​
ผื่นมักมีรูปร่างกลม รี ขอบชัดเจน อาจขึ้นเป็นวงแดง target 🧿 หรือพุพองเป็นถุงน้ำตรงกลาง (blister)​
มักชอบขึ้นบริเวณปาก อวัยวะเพศ ปลายมือปลายเท้า​
เวลาหายจะทิ้งรอยดำกลายเป็นสีน้ำตาล เทา หรือม่วง หรือที่คนชอบพูดกันว่า กินยาแล้วปากไหม้🔥
💊ยาที่มักเป็นสาเหตุ คือ ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), paracetamol, sulfonamides, tetracyclin​e
หากกินยาครั้งแรก ผื่นจะเกิดหลังได้ยา 1-2สัปดาห์ และจะเกิดเร็วขึ้นหลังจากได้ยาครั้งหลังๆ (ภายใน 24-48 ชม.)​
บางคนไม่รู้ว่าเกิดจากยา พอกินยาเดิมอีก ผื่นก็ขึ้นที่เดิม คราวนี้ถึงได้รู้สาเหตุว่า เป็นจากการแพ้ยา​
🧪ส่วนกลไกการเกิดโรคนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก ​
คำพูดที่ว่า "You can throw anything away, but memory." ใช้ได้กับโรคนี้​
ถึงแม้ผื่นจะหายไปแล้ว ดูเป็นปกติทุกอย่าง แต่ผิวหนังตรงนั้น ยังมีความทรงจำหลงเหลืออยู่ (ดราม่ามากๆ TT)​
🖼ความทรงจำนั้นคือ Skin tissue-resident memory T cells (TRM cells) ​ที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณนั้น เมื่อเจอกับยาตัวเดิม ก็จะกระตุ้นให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการอักเสบขึ้นมาได้​
🔬การวินิจฉัยนอกจากซักประวัติ ดูลักษณะผื่นแล้วยังสามารถทำ patch test ต่อยาที่สงสัย ​ในตำแหน่งที่เคยเกิดผื่น เพื่อให้ยาลงไปกระตุ้น TRM cells ที่อยู่บริเวณนั้นนั่นเอง​
📜ดังนั้นต่อไปหากมีผู้ป่วยที่มีผื่นลักษณะนี้ อย่าลืมซักประวัติยาที่กินก่อนมีอาการ โดยเฉพาะยาแก้ปวด (NSAIDs)ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้เองทั่วไปด้วยนะคะ​
สุดท้ายนี้ จะปีใหม่แล้ว ไม่ว่าจะอยากทิ้งหรือเก็บอะไร ก็ขอให้ขอบคุณทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เพราะมันคือโชคชะตา ความทรงจำ และการเรียนรู้^^ ​☘️
แล้วพบกับสาระความรู้เรื่องภูมิแพ้ได้ใหม่ในปีหน้านะคะ
Reference: Bolognia JL, Schaffer JV, Cerroni L. Dermatology. 4th ed. Philadelphia: Elsevier Saunders; 2018.

ขอบคุณผู้ป่วยที่อนุญาตให้เผยแพร่ค่ะ


ปัญหาการแพ้ยาที่สำคัญสำหรับแพทย์

ปัญหาผู้ป่วยแพ้ยาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ อย่างไรก็ตามประวัติแพ้ยาที่ได้รับมักเป็นเพียงคำบอกเล่าโดยปราศจากการยืนยันที่แน่นอน การที่แพทย์เลือกที่จะไม่ให้ยาที่สงสัยว่าแพ้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากความไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยแพ้ยาจริงหรือไม่มากกว่าเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยจะแพ้ยาจริง แต่เนื่องจากไม่มีความสามารถในการวินิจฉัยทำให้สุดท้ายแล้วก็มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนั้นไป เหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดซ้ำซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดข้อจำกัดในการเลือกใช้ยาและส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยในอนาคต

หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมความรู้พื้นฐานของกลไกการแพ้ยา ชนิดของยาที่แพ้บ่อยบางประเภท ลักษณะผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง วิธีการวินิจฉัยยืนยันการแพ้ยาที่สามารถทำได้นอกเหนือจากการสันนิษฐานจากประวัติ การเลือกใช้ยาที่ปลอดภัยในผู้ที่แพ้ยาและวิธีการให้ยาในผู้ที่มีประวัติแพ้ยามาก่อนถ้ามีความจำเป็นสำหรับเป็นคู่มือในการดูแลผู้ป่วยแพ้ยาของอายุรแพทย์และกุมารแพทย์โรคภูมิแพ้

การตรวจ basophil activation test ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่แพ้เนื้อแดง (alpha-gal syndrome)

Galactose-alpha-1,3-galactose (alpha-gal) syndrome เป็นภาวะภูมิแพ้ที่มี serum specific IgE ต่อ alpha-gal ก่อให้เกิดอาการลักษณะของภูมิแพ้เฉียบพลันที่มี onset ช้ากว่าภูมิแพ้เฉียบพลันจากสาเหตุอื่น (delayed type I allergic reaction) ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้เนื้อแดง (mammalian red meat product) ในอาหารหรือได้รับยาที่มีสารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ 

งานวิจัยจากประเทศเยอรมันพบว่าการใช้ basophil activation test สามารถช่วยวินิจฉัยแยกโรคระหว่างผู้ป่วย alpha-gal syndrome ที่มีอาการแพ้กับผู้ที่มีเพียงภาวะ sensitization ต่อ alpha-gal ได้ การวิเคราะห์ area under the curve analysis พบว่าผล basophil allergen threshold sensitivity โดยการกระตุ้น basophil ด้วย pork kidney extract ในผู้ป่วยที่แพ้ alpha-gal มีค่าสูงกว่าผลที่ได้ในผู้ที่มีเพียงภาวะ sensitization โดยไม่มีอาการและได้ผลเป็นลบในประชากรกลุ่มควบคุม การตรวจ basophil activation test จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะการแพ้เนื้อแดง (alpha-gal syndrome) โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการทำ oral provocation test ที่ใช้เวลานานและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

J Allergy Clin Immunol. 2019 Jan;143(1):182-189. doi: 10.1016/j.jaci.2018.06.049