อาการหายใจทางปากเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของโรคหืด

โรคจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ มักมีอาการหายใจทางปากร่วมด้วย คณะผู้วิจัยจากประเทศญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาประชากรในเมือง Nagahama จำนวน 9,804 ราย โดยใช้แบบสอบถามถึงอาการหายใจทางปาก ประวัติการรักษา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจสมรรถภาพปอด พบว่าประชากรร้อยละ 17 มีอาการหายใจทางปากและมีความสัมพันธ์กับการเป็นหืดอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงเป็น 1.85 เท่า และ 2.20 เท่า ในผู้ที่มีประวัติหายใจทางปากอย่างเดียวและมีอาการภูมิแพ้ทางจมูกอย่างเดียวตามลำดับ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 4.09 เท่า เมื่อมีทั้งอาการหายใจทางปากและอาการภูมิแพ้ทางจมูกร่วมกัน พบว่าภาวะหายใจทางปากในผู้ที่ไม่ได้เป็นหืดมีความสัมพันธ์กับภาวะภูมิแพ้ไรฝุ่น (house dust mite sensitization) การมีระดับ eosinophils ในเลือดสูง และการลดลงของสมรรถภาพปอดโดยไม่ขึ้นกับอาการภูมิแพ้ทางจมูก งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะหายใจทางปากเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหืด ทั้งในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้และในกลุ่มประชากรทั่วไป 
          
Allergy. 2016Mar 17. doi: 10.1111/all.12885.