การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยยืนยันผื่นแพ้ยา allopurinol ชนิดรุนแรง
Allopurinol เป็นยารักษาโรคเก๊าท์ที่เป็นสาเหตุของผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง เช่น Stevens-Johnson
syndrome (SJS), toxic epidermal necrolysis (TEN), และ drug reactions
with eosinophilia and systemic symptoms (DRESS) ที่พบบ่อย เนื่องจากการทดลองให้ยาซ้ำในผู้ที่เคยมีผื่นชนิดดังกล่าวอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการแพ้ยาชนิดดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์อย่างสูง
คณะนักวิจัยในประเทศไทยได้พัฒนาการใช้ interferon-gamma enzyme-linked Immunospot
(IFN-γ ELISpot) assay เพื่อช่วยวินิจฉัยการแพ้ยา
allopurinol ชนิดรุนแรง โดยศึกษาในผู้ที่แพ้ยา allopurinol
จำนวน 24 ราย (13 DRESS, 11 SJS/TEN) และกลุ่มควบคุมอีก 21 ราย โดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวผู้ป่วยด้วย
allopurinol หรือ oxypurinol ร่วมกับการเติม
anti-programmed death ligand 1 antibody (anti-PD-L1) และวัดจำนวนเซลล์ที่หลั่ง
interferon-gamma (IFN-γ releasing cells) ด้วยวิธี ELISpot
ผลการวิจัยพบว่า จำนวน IFN-γ releasing cells ในผู้ป่วยเมื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาวด้วย
oxypurinol 100 μg/ml (OXY100) สูงกว่าในผู้ที่ไม่แพ้ยาอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเติม anti-PD-L1ร่วมด้วยโดยมีความไว 79.2% และความจำเพาะ 95.2%
เมื่อใช้จำนวน IFN-γ releasing cells ที่ 16
เซลล์/หนึ่งล้านเซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นเกณฑ์การวินิจฉัย
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า IFN-γ ELISpot สามารถช่วยวินิจฉัยการแพ้ยา
allopurinol ได้และอาจมีประโยชน์ในช่วยหายาที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ในผู้ที่เกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงในขณะที่ได้รับยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน
Br J Dermatol. 2016 Apr 23. doi: 10.1111/bjd.14701.