การแพ้ alpha-gal ในเนื้อแดงอาจเป็นสาเหตุของการแพ้เซรุ่มต้านพิษงูแบบเฉียบพลันได้

เซรุ่มต้านพิษงูเป็นอิมมูโนโกลบุลิน ที่ออกฤทธิ์ต้านพิษงูในผู้ป่วยที่ถูกงูกัด อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้พิษงูแบบเฉียบพลันตั้งแต่ได้รับเซรุ่มในครั้งแรกเช่นเดียวกับผู้ป่วยบางรายที่แพ้ยา cetuximab ที่เป็น chimeric mouse-human antibodies สำหรับใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิด โดยพบว่า galactose-alpha-1,3-galactose (alpha-gal) อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้แบบเฉียบพลัน (Ig-E mediated) ดังกล่าว โดยนักวิจัยจากเยอรมนีพบว่าผู้ที่มีประวัติแพ้ alpha-gal เช่นผู้ที่มีอาการแพ้เนื้อแดง (red meat allergy) มีผลการทดสอบผิวหนังเป็นบวกต่อเซรุ่มพิษงูและ cetuximab ถึงแม้ว่าในเซรุ่มต้านพิษงูจะมีระดับของ alpha-gal น้อยกว่า cetuximab ก็ตาม และพบว่าเซรุ่มต้านพิษงูที่ทำจากโปรตีนม้า,ไตหมู (pork kidney), และ cetuximab มีคุณสมบัติกระตุ้น basophils ในผู้ป่วยที่แพ้ alpha-gal ได้ แสดงให้เห็นว่าการแพ้สาร alpha-gal อาจเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลันในผู้ที่มีอาการแพ้เซรุ่มต้านพิษงูที่ได้รับเซรุ่มดังกล่าวเป็นครั้งแรกเนื่องจากปฏิกริยาแพ้ข้ามกลุ่มจาก alpha-gal ดังกล่าว

ผลการเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยา methotrexate กับ cyclosporine เพื่อรักษาผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง (atopic dermatitis) ที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงในผู้ใหญ่

Methotrexate สามารถใช้ในการรักษาผื่นภูมิแพ้เรื้อรังได้แต่ไม่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบกับการใช้ cyclosporine ในผู้ใหญ่ นักวิจัยในฝรั่งเศสได้ศึกษาผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้เรื้อรังที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก (moderate-to-severe atopic dermatitis) จำนวน 97 ราย โดย 50 ราย ได้รับยา methotrexate 15 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ และ 47 รายได้รับยา cyclosporine 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น จากการประเมินโดย SCORing Atopic Dermatitis index (SCORAD 50) จะเพิ่มขนาดของ methotrexate เป็น 25 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ หรือ  เพิ่มขนาดของยา cyclosporine เป็น 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่าการใช้ยา methotrexate 15 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ ให้ผลการรักษาด้อยกว่าการใช้ยา cyclosporine 2.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว/วัน ที่ 8 สัปดาห์ แต่จะดีขึ้นเมื่อเพิ่มขนาดของ methotrexate เป็น 25 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา cyclosporine พบได้บ่อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (P < .0001).

J Allergy Clin Immunol Pract. 2017 Sep 26. pii: S2213-2198(17)30531-7.

ผลการรักษาด้วยยา methotrexate ในเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง atopic dermatitis ชนิดรุนแรง

ผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง atopic dermatitis พบได้ถึงร้อยละ 20 ของเด็กและผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการปานกลางหรือรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาทาหรือยาเฉพาะที่ชนิดอื่น การศึกษาย้อนหลังระหว่างพฤศจิกายน 2010 ถึง สิงหาคม 2015 จาก Ireland พบว่ามีผู้ป่วยเด็กจำนวน 47 รายที่ได้รับการรักษาด้วย methotrexate การประเมินผลการรักษาด้วย Investigator Global Assessment (IGA) ที่ระยะเวลา 3 ถึง 5 เดือนหลังการรักษาพบว่า คะแนนอาการดีขึ้นจาก 4.25 เป็น 2.8 และลดลงเหลือ 1.9 ในผู้ที่ได้รับยาตั้งแต่ 10 เดือนเป็นต้นไป การประเมินด้วยการใช้ Children’s Dermatology Life Quality Index (CDLQI)  เป็นไปในทางเดียวกันกับ IGA โดยพบว่า คะแนนดีขึ้นจาก 14.4 เหลือ 7.5 ที่ระยะเวลา 3 ถึง 5 เดือนและลดเหลือ 6.6 เมื่อได้ยานานเกิน 10 เดือน โดยผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ methotrexate มีผลช่วยรักษาเด็กที่มีผื่นแพ้ผิวหนัง atopic dermatitis ชนิดรุนแรงได้อย่างปลอดภัยและผู้ป่วยยังมีอาการดีเมื่อติดตามไปนานกว่า 10 เดือน


ผลการวิจัยวัคซีนภูมิแพ้ชนิดรับประทานต่อผลการป้องกันการเกิดโรคหืดในผู้ป่วยที่แพ้เกสรหญ้า

   คณะผู้วิจัยได้ทำการติดตามผลของการให้วัคซีนภูมิแพ้ชนิดรับประทานในผู้ที่แพ้เกสรหญ้าเทียบกับการให้ยาหลอกเพื่อศึกษาผลกระทบต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหืด โดยทำการศึกษาในเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปีจำนวน 812 ราย ที่มีประวัติเป็นโรคจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้จากเกสรหญ้าที่ยังไม่มีอาการของโรคหืด มาเข้าอยู่ในการวิจัยชนิดสุ่ม (randomized, double-blind, placebo-controlled trial) เพื่อรับวัคซีนภูมิแพ้เป็นเวลา 3    ปี และติดตามผลต่อเนื่องอีก 2 ปี
            ผลการวิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างของช่วงระยะเวลาที่ติดตามจนเกิดโรคหืด แต่พบว่าการให้วัคซีนภูมิแพ้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการหืดและการใช้ยารักษาโรคหืดอย่างมีนัยสำคัญเมื่อประเมินที่เมื่อสิ้นสุดการให้วัคซีน (odd ratio=0.66, p<0.036), ระหว่าง 2 ปีที่ติดตามหลังหยุดให้วัคซีน และเมื่อสิ้นสุดการติดตามผู้ป่วยที่ระยะเวลา 5 ปี โดยพบว่าผู้ป่วยจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้มีอาการลดลง 22.30% (P<0.005 ตลอดเวลา 5 ปี)  เมื่อสิ้นสุดการวิจัย ผู้ได้รับวัคซีนมีการใช้ยารักษาภูมิแพ้ลดลง 27% เมื่อเทียบกลับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (P<0.001) และมีระดับของ serum total IgE และผลการทดสอบภูมิแพ้เกสรหญ้าที่ผิวหนังเป็นบวกน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
     ผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่า การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ชนิดรับประทานสามารถลดความเสี่ยงของอาการหืดและการใช้ยารักษาโรคหืด และมีผลดีต่ออาการทางคลินิกและอัตราการใช้ยาของผู้ป่วยโรคจมูกและตาอักเสบจากภูมิแพ้ 

การพร่องของระดับวิตามิน ดีในช่วงอายุ 10 ปีแรกของชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืดในเด็ก

ภาวะขาดวิตามินดี (25(OH)D deficiency)ได้รับการสันนิษฐานว่าอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหืดแต่ในอดีตยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนแน่ชัด 
  มีการศึกษาในออสเตรเลียติดตามระดับวิตามินดีในวัยเด็กต่อการเกิดภาวะหอบหืด ในเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดหืดและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดหอบหืดภาวะภูมิแพ้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ, และ ระดับของ 25(OH)D ในพลาสม่าตั้งแต่แรกเกิดและเมื่ออายุ 0.5, 1, 2, 3, 4, 5, และ 10 ปี
 ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างระดับของ 25(OH)D และความเสี่ยงของการเกิดความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ (sensitization) ที่อายุ 0.5, 2, และ 3 ปี และพบว่าภาวะการพร่อง 25(OH)D มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความเสี่ยงของการเกิดหอบหืด เสียงหวีด (wheeze), ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (eczema) และความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ที่อายุ 10 ปี โดยระดับของ 25(OH)D มีความผกผันกับการพบเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus สะสมในช่องปากและลำคอ (nasopharyngeal colonization) ในเด็กอายุน้อยและสัมพันธ์กับอายุของการเกิดไข้จากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดภาวะหืด การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะการพร่องวิตามินดี 25(OH)D ในเด็กเล็ก  เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหืดเรื้อรัง โดยอาจส่งผลผ่านกลไกดังกล่าว ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ตรวจพบได้เมื่อระดับของ 25 (OH)D ได้รับการติดตามไปข้างหน้าเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอ




ระดับของอินเตอร์ลิวคิน-15 มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตในภาวะ Stevens-Johnson syndrome/toxic epidermal necrolysis

การให้การวินิจฉัยที่รวดเร็วและบอกพยากรณ์โรคของภาวะ Stevens-Johnson syndrome/toxic epidermal necrolysis (SJS/TEN) เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การศึกษาระดับของ cytokines ในผู้ป่วย SJS/TEN จากไต้หวันและยุโรปจำนวน 155 ราย พบว่ามีระดับของ IL-6, IL-8, IL-15, TNF-α, และ granulysin เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าระดับของ IL-15 และ granulysin ใน serum มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ด้วยวิธีการประเมิน SCORTEN ในผู้ป่วย 112 ราย อย่างมีนัยสำคัญ (p values <0.001 และ 0.026 ตามลำดับ) นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า IL-15 มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต (P value =0.001, adjusted odd ratio = 1.10) ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่ไม่มีภาวะ sepsis เกิดขึ้น และยังพบว่า IL-15 สามารถเพิ่มฤทธิ์ cytotoxicity ของ NK cells และ blister cells ในผู้ป่วย TEN งานวิจัยนี้บ่งให้เห็นว่าการศึกษาระดับของ IL-15 อาจมีบทบาทในการประเมินการพยากรณ์โรคและดูแลรักษาภาวะดังกล่าวได้